กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ฉบับปรับปรุง: แนวปฏิบัติ หรือ DGF Review
มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ฉบับปรับปรุง: แนวปฏิบัติ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการจัดธรรมภิบาลข้อมูลภายในหน่วยงาน โดยนำหลักการทางทฤษฎีและแนวคิดที่สำคัญจากกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เวอร์ชัน 1.0 มาปรับปรุงเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน และเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้งานจากหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น โดยยังคงใจความสำคัญของทฤษฎีและหลักการสำคัญไว้ และได้เพิ่มเติมแนวปฏิบัติการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้สามารถนำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐไปปฏิบัติจริงได้ จึงมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐให้กับหน่วยงานภาครัฐ ไปที่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานภาครัฐประเภท “กลุ่ม Non-IT” หรือ กลุ่มแผนและนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม นักวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้เข้าใจธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐมากขึ้น และสามารถนำกรอบไปประยุกต์ขับเคลื่อนการจัดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐภายในหน่วยงาน ให้ข้อมูลมีคุณภาพ สามารถนำไปบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น (Data integration) เปิดเผยข้อมูลสู่ประชาชน (Open data) และ วิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ (Data analytics) นำไปสู่ การตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูล บริการที่มีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย นวัตกรรมจากข้อมูล เป้าหมายเพื่อ ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อความพึงพอใจสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน และยกระดับการบริหารงานและการให้บริการประชาชนสำหรับหน่วยงานของรัฐผลต่อเนื่องไปยังการนําข้อมูลไปใช้และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ข้อมูลในทุกภาคส่วนต่อเนื่องกันไป
ในการปรับปรุง มรด. 6 : 2566 ฉบับนี้ได้ดำเนินการเพิ่มเติมคำนิยามสำคัญ เพื่อให้หน่วยงานสามารถศึกษาได้อย่างมีความเข้าใจความหมายมากยิ่งขึ้น เช่น “หน่วยงานของรัฐ” “ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ” “ยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล” เป็นต้น และเพิ่มกรณีศึกษาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานใช้เป็นตัวอย่างและเกิดการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงานมากยิ่งขึ้น โดย มรด. ฉบับนี้จึงได้แบ่งสาระสำคัญออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล ยังคงเนื้อหาของกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เวอร์ชั่น 1 เป็นหลัก โดยการปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลบางส่วนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ส่วนที่ 2 แนวปฏิบัติ เป็นการจัดทำเนื้อหาขึ้นใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาตรฐานมาขับเคลื่อนภายในหน่วยงาน ต้องการนำเสนอการทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
การประกาศมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล (มรด.)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเรื่อง มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ฉบับปรับปรุง: แนวปฏิบัติ และเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.ratchakitcha.soc.go.th หรือที่เว็บไซต์ https://standard.dga.or.th
เอกสารหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
เอกสารประกอบมาตรฐานฯ