ปราการ ศิริมา
ความเป็นมา
ด้วย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ รับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๖๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนด้วยระบบดิจิทัลและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. ที่เสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ ๓ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) (ปัจจุบันคือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เร่งรัดการพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สรอ. ก.พ.ร. และ ดศ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่างๆ ไปประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาด้วย ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีการเปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายจาก “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. ….” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ….”
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๒ เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. …. และได้ลงมติวาระที่ ๓ เห็นสมควรประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งได้เห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ฯ และมีมติให้ส่งข้อสังเกตดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ ใช้บังคับมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

เวลาติดต่อหน่วยงานภาครัฐ หลายๆ คนคงเคยมีคำถามสงสัยในใจกันมาก่อนว่า ทำไมเราถึงต้องนำเอกสารหลักฐานข้อมูลของเราส่งให้แต่ละหน่วยงานด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองก็น่าจะมีข้อมูลของเราครบถ้วนอยู่แล้ว? ทำไมหน่วยงานภาครัฐจึงไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้?
เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้กับภาคประชาชนและกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องพัฒนาระบบกลางขึ้นมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือ พรบ.DG จึงถูกร่างขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ให้ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มตัว และสามารถทำงานร่วมกันแบบบูรณาการได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
รัฐบาลดิจิทัล: เป้าหมายสู่การดำเนินงานภาครัฐ ที่บูรณาการข้อมูลและขั้นตอนจากทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน
ที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยทุกท่านน่าจะได้เห็นความพยายามของหลายๆ หน่วยงานที่ได้ทำการพัฒนาระบบเว็บไซต์หรือ Mobile Application ขึ้นมาให้บริการประชาชนกันบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในโครงการเหล่านี้เอง หน่วยงานรัฐหลายๆ แห่งก็ได้เริ่มมีประสบการณ์ในการพัฒนาบริการดิจิทัลกันมากขึ้น และพบกับอุปสรรคสำคัญ คือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหลายหน่วยงานเข้าด้วยกันนั่นเอง
ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะแรกเริ่มเดิมทีนั้นหน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานโดยใช้เอกสารกระดาษกันเป็นหลักมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งเมื่อเทคโนโลยี IT เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ หน่วยงานก็เริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้งานกันภายใน ทำให้ระบบบริหารจัดการกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาประการถัดมาที่เกิดขึ้นก็คือการที่แต่ละหน่วยงานนั้นต่างเร่งพัฒนาบริการดิจิทัลของตนเองด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แต่ละระบบถูกออกแบบมาด้วยแนวทางที่แตกต่างกัน มีการจัดเก็บและนำข้อมูลมาใช้งานที่แตกต่างกัน ทำให้การนำข้อมูลของหน่วยงานต่างแห่งมาใช้งานนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานกลางที่ชัดเจนถูกระบุขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือ พรบ.DG จึงเกิดขึ้นมาตอบโจทย์เหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐไทยสามารถร่วมมือกันพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว โดยมีการวางแผนระดับชาติและตั้งคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลขึ้นมา พร้อมมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหรือ DGA เป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการตามประราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
1. กำหนดให้มีการทำ Data Governance หรือธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ด้วยการวางมาตรฐานในการจัดเก็บ รักษา อัปเดต บริหารจัดการ และการเปิดให้นำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมาใช้ร่วมกันได้ โดยข้อมูลเหล่านี้ต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย พร้อมเปิดให้หน่วยงานต่างๆ มานำไปใช้งานได้ หรือเปิดให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงได้ในส่วนที่เป็นข้อมูลสาธารณะ
2. กำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลและบริการในแบบดิจิทัลหรือ Digitization เพื่อให้กระบวนการการให้บริการภาครัฐและการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ นั้นอยู่ในรูปแบบดิจิทัลให้สอดคล้องกัน รวมถึงมีการนำระบบการชำระเงินทางดิจิทัล (National e-Payment) สำหรับการชำระค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าปรับมาใช้ และนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) มาใช้ภายในระบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชน
3. กำหนดให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลรูปแบบดิจิทัลหรือ Integration เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วยรูปแบบของข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและมีความมั่นคงปลอดภัย ลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการร้องขอหรือจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานลง และมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้
4. กำหนดให้มีความร่วมมือเปิดบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวหรือ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมใดๆ กับหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการภาครัฐให้ได้มากที่สุดภายในระบบเดียว ไม่ต้องลำบากติดต่อหลายหน่วยงานอย่างในอดีตอีกต่อไป
5. กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล หรือ Open Government Data เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ ไปจนถึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานต่อยอดในการดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวกจาก https://data.go.th/
6. กำหนดให้มีการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลแห่งอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง
จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและชัดเจนถึงเป้าหมายของรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนที่จะสามารถเข้ารับบริการหรือสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐเองที่หลังจากนี้จะสามารถร่วมมือทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาให้บริการแก่ภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดฉบับเต็ม สามารถศึกษาข้อมูลทั้งหมดได้ที่ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562
ตามที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูล และกำหนดแนวทางและมาตรฐานให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยแก่ประชาชน ณ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data of Thailand) ที่เว็บไซต์ data.go.th

ข้อมูลเปิดภาครัฐคืออะไร
ข้อมูลเปิดภาครัฐ คือ “ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงและใช้ได้อย่างเสรี ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย เผยแพร่ ทำซ้ำ หรือใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์” หรือสรุปได้ว่า คือ ข้อมูลภาครัฐที่ผ่านกระบวนการจัดลำดับชั้นความลับของข้อมูลแล้วว่าเป็น “ข้อมูลสาธารณะ” ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน วิเคราะห์ หรือดัดแปลงได้ตามความต้องการ


ทำไมจึงต้องเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ
การดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ข้อมูลถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำมาใช้สนับสนุนการดำเนินการกิจการต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศในทิศทางต่าง ๆ เช่น นำมาใช้ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการหรือ ต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลภาครัฐ ซึ่งมีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ข้อมูลภาครัฐจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูล จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศ

ความสำคัญของ Digital ID
ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ (Covid-19) ได้เป็นอย่างดีจากความสามารถในการปรับตัวของคนไทยทุกคน หน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ประชาชน เร่งรัดการทำงานให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ติดต่อกันทางออนไลน์ได้สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงต้องมีการให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยก่อนที่จะเข้าถึงบริการออนไลน์ ประชาชนต้องทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้บริการก่อน ซึ่งการที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีการจัดทำขั้นตอน และวิธีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจและตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย และ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้งานอย่างเหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัยในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน สร้างความมั่นใจและทำให้ประชาชนติดต่อกับภาครัฐทางออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ความเป็นมาของการพัฒนามาตรฐาน Digital ID
ด้วยพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล โดยมีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกันและเชื่อมโยง เข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัย โดยที่มาตรา ๑๒ (๒) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำกระบวนการ หรือการดำเนินงานทางดิจิทัลนั้นต้องทำงานร่วมกันได้ ประกอบมาตรา ๑๒ (๔) จัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน ซึ่งมีมาตรฐานและแนวทางที่สอดคล้องกันตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด
โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. มีหน้าที่อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล ว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยโดยมีการดำเนินงานตามกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- สิงหาคม ๒๕๖๓ ประกาศเวียนร่างมาตรฐาน (Committee Draft for Vote : CDV) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็น (บันทึกการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 9.00-10.00 น. ทาง Facebook และ Youtube Live)
- กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ร่างมาตรฐานฯ (Final Draft National Standard : FDNS1) ผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการสถาปัตยกรรมและมาตรฐานการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
- พฤษภาคม ๒๕๖๔ ร่างมาตรฐานฯ (Final Draft National Standard : FDNS2) ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
- กันยายน ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย ได้ลงลงนามในประกาศมาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔
การประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้ลงลงนามในประกาศมาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลฯ เสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ซึ่งประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย
๑. มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล [มรด. ๑-๑ : ๒๕๖๔] [DGS 1-1 : 2564] ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนกาและการดำเนินงานทางดิจิทัล เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ – ภาพรวม (เวอร์ชั่น ๑.๐)
DIGITALIZATION : DIGITAL ID – OVERVIEW(version 1.0)
๒. มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล [มรด. ๑-๒ : ๒๕๖๔] [DGS 1-2 : 2564] ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ – การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (เวอร์ชั่น ๑.๐)
DIGITALIZATION : DIGITAL ID – IDENTITY PROOFING AND AUTHENTICATION(version 1.0)
โดยมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล ทั้ง ๒ ฉบับนี้ ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวณการและการดำเนินงานทางดิจิทัลสำหรับระบบที่ให้บริการภาครัฐ อธิบายถึงภาพรวม ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ของการใช้งานดิจิทัลไอดีเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย เกี่ยวกับระบบการให้บริการภาครัฐตามกลุ่มการให้บริการ ที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งพิจารณาจากระดับความเข้มงวดในกระบวนการพิสูจน์ตัวตนหรือระดับความน่าเชื่อถือของไอเดนทิตี (Identity Assurance Level : IAL) และระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนหรือระดับความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (Authenticator Assurance Level : AAL) เพื่อช่วยลดโอกาสของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผิดพลาดสำหรับประกอบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มการให้บริการภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย
๑) กลุ่มการให้บริการข้อมูลพื้นฐำน (Emerging Services) คือ การให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั่วไป
๒) กลุ่มการให้บริการข้อมูลที่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ (Enhanced Services) คือ การให้บริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบการสื่อสารทางเดียวหรือสองทางกับผู้ใช้บริการ เช่น การรับแจ้งเรื่องร้องเรียน ข้อเสนอแนะ หรือแสดงความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์หรือช่องทางให้บริการข่าวสารข้อมูลอื่น
๓) กลุ่มการให้บริการธุรกรรม (Transactional Services) การให้บริการธุรกรรมของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การอนุญาต การจดทะเบียน หรือการดาเนินการใด ๆ กับหน่วยงานของรัฐ
๔) กลุ่มการให้บริการธุรกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (Connected Services) คือ การให้บริการธุรกรรมที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเข้าด้วยกัน และมีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การขอรับบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของประกาศฉบับนี้ได้กำหนดมิให้มาตรฐานฉบับนี้กับกับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน ผู้ให้บริการภาครัฐ และแหล่งให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จนกว่าพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.ratchakitcha.soc.go.th หรือที่เว็บไซต์ www.dga.or.th
ถาม – ตอบ เกี่ยวกับมาตรฐาน Digital ID
ไฟล์เอกสาร
ราชกิจจานุเบกษา_ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย
[มรด. ๑-๑ : ๒๕๖๔] [DGS 1-1 : 2564] ประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ – ภาพรวม (เวอร์ชั่น ๑.๐) DIGITALIZATION : DIGITAL ID – OVERVIEW (version 1.0)
[มรด. ๑-๒ : ๒๕๖๔] [DGS 1-2 : 2564] ประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ – การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (เวอร์ชั่น ๑.๐) DIGITALIZATION : DIGITAL ID – IDENTITY PROOFING AND AUTHENTICATION (version 1.0)
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้ดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Correspondence System Interoperability Standard)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐที่มีระบบสารสนเทศที่แตกต่างกันได้อย่างอัตโนมัติ (Cross Platforms Interconnection) ด้วยการสร้างความสอดคล้องให้ชื่อรายการข้อมูลการกำหนดโครงสร้างของข้อมูลในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตลอดจนกระบวนการในการเชื่อมโยงระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์อันจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจัดเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐจึงได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วน แต่ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเชิงนโยบายและปฏิบัติ ทั้งในเรื่องความซ้ำซ้อนของข้อมูลความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (เช่น การรักษาความลับ การเข้าถึงข้อมูล การรักษาความเป็นส่วนบุคคล) คุณภาพของข้อมูล (เช่น ความถูกต้อง ความครบถ้วน ความเป็นปัจจุบัน) การเปิดเผยข้อมูล (เช่น หน่วยงานเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล กระบวนการขอใช้ข้อมูลซับซ้อนและใช้เวลานาน ข้อมูลไม่อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานต่อได้ง่าย) และยังไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากการบริหารจัดการข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจนของหน่วยงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการและแนวปฏิบัติในธรรมาภิบาลข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance for Government) จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการข้อมูล โดยประกอบด้วย สภาพแวดล้อมของธรรมาภิบาลข้อมูล กฎเกณฑ์หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกับข้อมูล บทบาทและความรับผิดชอบในธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ กระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และการวัดการดำเนินการและความสำเร็จของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ กล่าวคือ บุคคลที่ได้รับบทบาทในธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จะมีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขต กฎเกณฑ์ และนโยบายข้อมูลที่ใช้ในกระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ตั้งแต่การสร้าง การจัดเก็บ การประมวลผล การใช้ การเผยแพร่จนถึงการทำลาย โดยกฎเกณฑ์และนโยบายข้อมูลต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละหน่วยงาน การวัดผลการดำเนินการช่วยให้เห็นระดับการดำเนินการของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการหรือคุณภาพของข้อมูล

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ นำไปปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้สามารถปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ DGA Contact Center โทร : 0 2612 6060 หรือ อีเมล : contact@dga.or.th
ข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบประมวลผลการศึกษา (Message Standard for Academic Transcript) เพื่อกำหนดโครงสร้างข้อมูลของข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบประมวลผลทางการศึกษาในรูปแบบ XML (Extensible Markup Language) เพื่อให้สถาบันการศึกษาใช้เป็นมาตรฐานประกอบการจัดทำข้อมูลในใบประมวลผลการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล