การจัดการคุณภาพข้อมูล
ข้อมูลที่ดีเพื่อการตัดสินใจที่ดีกว่า
โลกในปัจจุบันถูกผลักดันและเติบโตด้วยการขับเคลื่อนของดิจิทัล ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดขององค์กร การประกอบธุรกิจและกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนล้วนพึ่งพา และอาศัยข้อมูลในการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับกระแสของข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ จะช่วยในการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ส่วนมากพบว่าข้อมูลที่มีไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และองค์กรส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล (Data Quality) ที่จะนำมาใช้ในทุกมิติ จึงทำให้ไม่อาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด
จึงเป็นเหตุผลหลักที่หน่วยงานภาครัฐควรตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและบริหารจัดการคุณภาพข้อมูล จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้เริ่มจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลและบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ รวมทั้งกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานที่มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำบัญชีข้อมูลหน่วยงานให้ได้มาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีการวัดผลการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการนําข้อมูลไปใช้และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ข้อมูลในทุกภาคส่วนต่อเนื่องกันไป
ISO 8000:61-2016 Data Quality Management แนวทางการจัดการคุณภาพข้อมูล เริ่มตั้งแต่การวางแผน การควบคุม การประกันคุณภาพ และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องของกระบวนการภายในองค์กร โดยต้องมีผู้รับผิดชอบ และเกณฑ์การตรวจสอบชี้วัด รวมถึงแนวทางการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการทำให้ข้อมูลมีคุณภาพจะถูกแบ่งออกเป็นหมายเลขจำนวนมาก ซึ่ง ISO เรียกว่าส่วน (Past) จะประกอบด้วย คุณภาพข้อมูลทั่วไป (General data quality: Parts 0-99), คุณภาพข้อมูลที่สำคัญ (Master data quality: Parts 100-199), คุณภาพข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ (Transactional data quality: Pasts 200-299), คุณภาพข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (Product data quality: Parts 300-399)
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) มีหน้าที่อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมอบหมาย และดำเนินการร่างมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ เสนอคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และแต่งตั้งคณะทำงานเทคนิคด้านมาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพข้อมูล เพื่อเป็นกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และเครื่องมือสำหรับการประเมินคุณภาพข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้เป็นตัวอย่างในการตรวจสอบและควบคุมการจัดการข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจในเชิงนโยบายและการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มคุณค่าในการให้บริการภาครัฐ และต่อยอดการพัฒนาของประเทศในมิติต่าง ๆ ได้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ข้อมูลภาครัฐ
จึงขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ร่างหลักเกณฑ์ฯ มีความเหมาะสมกับการนําไปใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของท่าน โดยสามารถตอบแบบแสดงความคิดเห็นกลับมาภายในวันพฤหสบดีที่ 16 ธันวาคม 2564 (ศึกษารายละเอียดและดาวน์โหลดเอกสารตามที่แนบมานี้)
เอกสารประกอบการจัดงาน: ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดเอกสาร
- ร่างหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
- แบบแสดงความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
- กำหนดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- แบบตอบรับเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น
ช่องทางเข้าร่วม: สามารถเข้าร่วมงานผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live Streaming) ทาง Facebook DGA Thailand ลิงก์สำหรับเข้าร่วมงาน https://www.facebook.com/DGAThailand