
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เดินหน้าออกกฎหมายรองภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล หลังมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเร่งสปีดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด DGA จึงได้จัดงาน “รับฟังเพื่อแสดงความคิดเห็นและรับทราบ (ร่าง) มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ พ.ศ. …” ขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างตรงใจมากที่สุด


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลนี้ “ข้อมูล” จัดเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีค่ามาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้มากมาย หากมีการบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบด้วยธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐภายใต้พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลก็จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ และเมื่อนำข้อมูลที่มีค่าเหล่านั้นมาเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจนำไปพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะช่วยสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากโครงการ “ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ” ที่เว็บไซต์ Data.go.th มีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ประชาชนดาวน์โหลดไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบภาษีไปไหน หรือ เว็บไซต์ govspending.data.go.th ที่นำระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (Thailand Government Spending) มาเปิดเผยในรูปแบบกราฟที่ดูเข้าใจง่ายและสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยภาพรวมรายได้และข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแก่ประชาชน เป็นต้น


ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐนั้นไม่ใช่เพียงนำชุดข้อมูลที่มีออกมาเปิดเผยเท่านั้น จะต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมทั้งระบบของข้อมูลเปิดภาครัฐด้วย โดยทุกหน่วยงานต้องพร้อมจะเปิดเผยข้อมูล และข้อมูลที่เปิดเผยนั้นต้องมีคุณค่า มาตรฐาน และสามารถนำไปใช้งานต่อได้ทันที คาดว่าหลังจากนี้ทุกหน่วยงานจะมีแนวทางในการจัดเตรียมเนื้อหาสำหรับเปิดเผยข้อมูลได้สอดคล้องกับกฎหมายรองฉบับนี้มากยิ่งขึ้น

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ในมาตรา 17 ของพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ โดยต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ดังนั้น DGA ซึ่งมีหน้าที่จัดทำร่างมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้จัดทำ (ร่าง) มาตรฐาน และหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ พ.ศ. …. ขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนดไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม