สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด, กรมสรรพากร, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ” ตั้งเป้ายกระดับการให้บริการดิจิทัลภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ” นับเป็นโครงการสำคัญตามเป้าประสงค์ในยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (พ.ศ.2561-2580) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐ และยกระดับการให้บริการประชาชน ลดภาระในการติดต่อหรือใช้บริการจากภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาการให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ หรือการให้บริการของภาคธุรกิจแก่ประชาชน ประกอบด้วยขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร เกิดภาระต่อผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตน ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเกิดภาระต่อผู้ใช้บริการ
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มาประยุกต์ใช้กับการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทาง สพร. จึงได้วางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ “ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ” ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกรรมออนไลน์ กับภาครัฐ อย่างรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยทั้ง 9 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สพร. ในวันนี้ ต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ รวมไปถึงสนับสนุนให้หน่วยงานผู้ใช้บริการสามารถนำแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าวไปใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในท้ายที่สุด” ผอ.สพร. กล่าวสรุป
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนเป็นสำคัญมาโดยตลอด จึงพร้อมร่วมมือกับ “โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ” และเป็นอีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนงานนี้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการวางแผน ขับเคลื่อน ประสานงานให้หน่วยงานผู้ใช้บริการสามารถนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนการติดตาม ประเมินผล และการรวบรวมปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทางสมาคมพร้อมให้การสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ไทยที่เป็นสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของธนาคารในการเข้าถึงบริการทางดิจิทัลของหน่วยงานผู้ให้บริการ และหน่วยงานภาครัฐอื่นในอนาคตได้ ทั้งนี้เพราะทางสมาคมฯ ได้พิจารณาแล้วว่าโครงการมีวัตถุประสงค์อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง และ Digital ID มีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญกับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงใดๆที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกรรม ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือในการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นด้วย
นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้สนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมาโดยตลอด ซึ่งภาคธนาคารโดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมให้การสนับสนุนธนาคารของสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นสมาชิกของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการเป็น Identity Provider หรือผู้ทำหน้าที่สำคัญในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และเป็นผู้รับลงทะเบียนยืนยันการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้ที่จะขอใช้ข้อมูลต่อไป
นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานกรรมการบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด กล่าวว่า ภารกิจหลักของ NDID คือการเป็น Platform การพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากทางภาครัฐและต่อมาจัดตั้งเป็นบริษัท เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งนี้ ขอเพิ่มเติมด้วยว่าหลักการทำงานของการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลครือข่ายนี้จะเป็นเหมือนถนนที่เชื่อมบริการต่างๆ ไว้ด้วยกัน แต่ NDID ไม่ได้เก็บข้อมูลใดๆ ข้อมูลจะยังคงอยู่ในที่เก็บข้อมูลเดิมหรือหน่วยงานต่างๆ โดยประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูลมีสิทธิเลือกที่จะส่งข้อมูลของตนเอง ส่งผลให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีความรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัยและน่าเชื่อถือภายใต้มาตรฐานตามสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ถือเป็นการยกระดับการทำธุรกรรมทางดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดบริการต่างๆ รวมถึงในครั้งนี้ที่ได้ต่อยอดมาถึง “บริการดิจิทัลภาครัฐ” ที่ภาครัฐได้นำ NDID มาใช้ให้บริการประชาชน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการให้บริการด้านภาษี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีสามารถทำธุรกรรมภาษีได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ การนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูลของกรมสรรพากร พ.ศ.2563 (Data Governance) ซึ่งจะช่วยคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลและการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เช่น My Tax Account (การตรวจสอบรายการค่าลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี) การยื่นแบบฯ และชำระภาษี การสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ กรมสรรพากร ยังคงมุ่งมั่นทำให้บริการอิเล็กทรอนิกส์มีความง่ายตามความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการ ผู้เสียภาษี และมีมาตรฐานระดับสากล
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) แต่ยังคงมีธุรกิจจัดตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2563 มากถึง 5,667 ราย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของภาคธุรกิจที่ยังคงมีพลังขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น บริการภาครัฐก็ต้องไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน ปัจจุบันบริการของกรมฯ ที่ให้บริการแก่ภาคธุจกิจเข้าสู่ระบบออนไลน์หมดแล้ว จึงกล่าวได้ว่ากรมฯ มีความพร้อมมากในเข้าร่วมนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มาใช้บริหารงานและบริการประชาชนตามข้อตกลงที่ได้ร่วมลงนามกันในครั้งนี้ โดยคาดว่าบริการที่จะนำร่องในเร็ววันนี้ ได้แก่ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมที่ดินได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ที่เน้นการพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการปรับปรุงการให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ในหลายระบบ อาทิ แอปพลิเคชัน Landsmap ที่พัฒนาร่วมกับ DGA ระบบ E-LandsAnnouncement โดยที่กรมฯ คาดหวังให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ในการขอข้อมูล ตลอดจนการดำเนินการในหลายๆเรื่องกับทางกรมฯ ประชาชนจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น วันนี้กรมที่ดินจึงได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องในโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ โดยคาดหวังว่าประชาชนได้ใช้บริการออนไลน์ของกรมฯ อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
นายสินชัย ต่อวัฒนกิจกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ความท้าทายของงานด้านสาธารณสุขวันนี้คือต้องรวดเร็ว ควบคู่กับความสะดวกและปลอดภัย สป.สช.มีความพยายามในการลดความแออัดในโรงพยาบาลมาโดยตลอด เน้นให้บริการออนไลน์ให้มากขึ้น ลดเวลารอรับยาให้น้อยลง ที่สำคัญคือต้องลดระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริม และการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลก่อนทำธุรกรรมใดๆ จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการให้บริการออนไลน์ที่สะดวกสบายแก่ประชาชน ทั้งนี้ บริการที่ สป.สช. คาดว่าจะได้นำร่องมาใช้ในเร็ววันนี้ ได้แก่ การลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ ผ่านMobile Application , การพิสูจน์ตัวตนและการยืนยันตัวบุคคลในเข้ารับบริการที่หน่วยบริการผ่านระบบ smart card และ Mobile Application
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ ในการสนับสนุนการนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม และสถานศึกษาในการเข้าถึงบริการด้านการกู้ยืม โดยกองทุนมุ่งมั่นที่จะยกระดับการบริหารงาน และการให้บริการให้มีความรวดเร็วและปลอดภัย โดยแพลตฟอร์ม Digital ID จะนำมาใช้กับระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Student Loan Fund System – DSL) เพื่อตอบสนองการปฏิบัติงานของกองทุน ทั้งกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทาง Web Application และ Mobile Application ประกอบด้วย 3 ระบบงาน ได้แก่ ระบบการบริหารหนี้ (Debt Management System – DMS) และระบบการดำเนินคดีและบังคับคดี (Litigation and Enforcement Management System – LES) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงระบบการจัดการการให้กู้ยืม (Loan Origination System – LOS) ซึ่งจะเปิดให้บริการในปีการศึกษา 2564
รับชมบรรยากาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้ที่ Facebook >> https://bit.ly/33sVSPZ