สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำ ตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) บนระบบ Open Data” ณ ห้องบัญชาการ ชั้น 2 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลด้านน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์บนระบบ Open Data ที่ผ่านการดำเนินการตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) และระบบเชื่อมโยงชุดข้อมูลระหว่างกัน ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ
ทั้งนี้ นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “DGA เล็งเห็นว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำของประเทศ มีมากมายมหาศาล การนำข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยให้เป็น Open Government Data เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยช์ต่อไปในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น
DGA จึงได้ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำ ตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) บนระบบ Open Data ขึ้น ขอขอบคุณทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ที่ยินดีมาร่วมงานกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในโครงการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำ ตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) บนระบบ Open Data
ทั้งนี้ DGA มีบทบาทในการสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกันและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร กระบวนการทำงานและเพิ่มศักยภาพในการติดตาม การวิเคราะห์เชิงลึกแบบ Data Analytics โดยใช้ข้อมูลระดับจุลภาค และ การวิจัย เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความท้าทายใหม่ๆ
ซึ่งที่ผ่านมา DGA ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และ หน่วยงานภาครัฐได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการทำธรรมาภิบาลข้อมูลในหน่วยงาน
และคนไทยทุกคนทราบดีว่า ข้อมูลน้ำเป็นข้อมูลสำคัญของประเทศ ซึ่งในยุค New Normal นี้ทุกคนคงทราบแล้วว่า ข้อมูลเป็นทรัพยากรรูปแบบใหม่ (Data is a new asset) ที่ควรตระหนักถึงความสำคัญ และกำกับดูแลไม่ต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ ขององค์กร แต่หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล (Data Quality) ที่จะนำมาใช้ในทุกมิติ ทำให้ไม่อาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการและแนวปฏิบัติในธรรมาภิบาลข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งการทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้สำเร็จนั้น จะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ ต้องมีการวางนโยบายไปพร้อมๆ กัน และสิ่งสำคัญคือ ความสามารถในการจัดการข้อมูลขององค์กรย่อมชี้วัดไปถึงการสร้างความสำเร็จอื่นๆ ได้ รวมถึงความสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน
“รัฐบาลที่ดี จะต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Government) และมีการบริการจัดการตามธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อให้มีข้อมูลที่มีคุณภาพ มีแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และให้หน่วยงานระดับนโยบายได้นำข้อมูลไปประกอบการจัดทำและติดตามงานด้านนโยบายที่เหมาะสม”
ในโอกาสนี้ ผมขอใช้โอกาสในการสร้างความร่วมมือนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน และ จากความร่วมมือนี้เราจะช่วยกันดำเนินงานเพื่อข้อมูลน้ำของประเทศไทย”