ปัญหาน่าปวดหัว ทำเสียเวลามากมายตอนที่นักพัฒนาเขียนโปรแกรมเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานก็มาจากที่แต่ละหน่วยงานใช้คําศัพท์ (Vocabulary) รูปแบบ โครงสร้าง และความหมายของข้อมูลที่แตกต่างกันนั่นแหละ กลายเป็นปัญหาสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกันเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเรียกเพศ ชาย-หญิง ง่ายๆ นี่เอง หน่วยงานหนึ่งแทนเพศชาย ด้วย ‘M’ เพศหญิง ด้วย ‘F’ อีกหน่วยงานแทนเพศชาย เป็น ‘0’ หญิงเป็น ‘1’ เท่านี้เวลาแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงานก็เกิดปัญหาแล้ว
หรืออย่างเลข 13 หลักของประชาชน ที่หนึ่งใช้ CitizenID อีกที่ใช้ ID13 ที่อื่นก็ใช้คำอื่น
โอ๊ยยยยย พี่ครับ พี่ทำไมไม่ใช้คำเดียวกัน ทำไมไม่มีมาตรฐานกลางของประเทศมาใช้นะ
ถ้ามีแหล่งรวมคำที่ใช้เป็นมาตรฐานให้ทุกหน่วยงานมาหยิบไปใช้ได้เลย ไม่ต้องสร้างคำเฉพาะของแต่ละหน่วยงานตัวเอง การทำงานของโปรแกรมเมอร์ก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น แถมงบประมาณก็ใช้น้อยลงด้วย ต้องการใช้คำไหนก็ไปเลือกมาใช้ได้เลย
การมีมาตรฐานกลางขึ้นมาจะช่วยให้นักพัฒนาโปรแกรมทำงานง่ายขึ้น ทำให้ต้นทุนการพัฒนาระบบต่ำลง และจะส่งผลต่อการขยายตัวของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเร็วมากขึ้น จากนั้นนวัตกรรมการบริการภาครัฐก็จะตามมา
มาตรฐานแก้ปัญหาความต่าง
ดังนั้นการกําหนดมาตรฐานด้านความหมายข้อมูล เป็นสิ่งจําเป็นเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างเหล่านี้ ซึ่งวิธีการในการกําหนดมาตรฐานฯ ด้านความหมายข้อมูลที่สามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การกําหนดแบบจําลองข้อมูลขึ้นจากมาตรฐานข้อมูลที่มีการใช้งานในระดับสากลเพื่อให้หน่วยงานเข้าใจความหมายของข้อมูลตรงกัน เกิดการยอมรับและนําไปสู่มาตรฐานการทํางานร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ในระดับสากล
แนวทางการสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความหมาย (Semantic Exchange) สําหรับประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยก่อนหน้านี้แนวทางดังกล่าวได้นำเสนอไว้ใน “กรอบแนวทางในการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand e-Government Interoperability Framework, TH e-GIF)” ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานฯ ด้านความหมายข้อมูลนี้จึงรับแนวทางที่นําเสนอไว้มาเป็นแนวคิดเริ่มต้นแนวคิดในการพัฒนามาตรฐานต่อไป
กรอบแนวทางดังกล่าว ได้จําแนกสถาปัตยกรรมการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
- สถาปัตยกรรมด้านธุรกรรม (Business Architecture)
- สถาปัตยกรรมด้านข้อมูล (Data Architecture)
- สถาปัตยกรรมด้านระบบงาน (Application Architecture)
- สถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยี (Technology Architecture)
จากสถาปัตยกรรมทั้ง 4 ด้านนี้ จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมด้านข้อมูล (Data Architecture) มีความเกี่ยวพันกับการพัฒนามาตรฐานฯ ด้านความหมายข้อมูลโดยตรง โดยเป็นการอธิบายเกี่ยวกับกลุ่มของข้อมูล โครงสร้างข้อมูล และลักษณะข้อมูล การหาข้อตกลงในการปรับลดชื่อรายการข้อมูลที่มีความหมายเหมือนกันให้เหลือเพียงชื่อเดียวและสร้างความสอดคล้องกับเงื่อนไขการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งช่วยให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และสามารถนําเอาข้อมูลที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปใช้ในการพัฒนาระบบงานได้
มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแห่งชาติ
ที่มาของการสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลของไทย ได้มาจากการศึกษาข้อมูลต่างประเทศ และได้หยิบยืมมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแห่งชาติ (National Information Exchange Model หรือ NIEM) ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้กันมานานเป็นต้นแบบ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่มีบริบทเดียวกัน ซึ่งเดิมแต่ละหน่วยงานจะใช้คำต่างกัน หากคำไหนของสหรัฐอเมริกาไม่มีก็นิยามศัพท์ไทยง่ายๆ ขึ้นใช้แทน
จากมาตรฐาน NIEM นั้น ทางไทยได้สร้างภาพรวมของข้อมูลสําหรับประเทศ โดยสร้างกลุ่มข้อมูลไว้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้อมูลหลัก (Core Data) กลุ่มข้อมูลส่วนขยาย (Extend Data) และกลุ่มข้อมูลอ้างอิง
จริงๆ แล้ว “ข้อมูล” หรือ “data” ทุกหน่วยงานล้วนมีกันครบถ้วน ปัญหาปัจจุบันเพียงแค่ขาดการ Integrate ข้อมูลเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น หัวใจอยู่ที่เจ้าของข้อมูล เนื่องด้วยข้อมูลต่างๆ จะเก็บไว้ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เก็บอยู่ที่สำนักทะเบียนกลาง ในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุุข หรือฐานข้อมูลของส่วนราชการอื่นๆ ล้วนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่แตกต่างกัน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คำเรียก และโครงสร้างที่ต่างกันทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีปัญหาการเชื่อมต่อนักพัฒนาโปรแกรมต้องใช้เวลามากมายทุ่มเทแก้ไขปัญหานี้ แถมสิ้นเปลืองงบประมาณ หากแต่ละหน่วยงานใช้มาตรฐานเดียวกันจะลดทั้งเวลา และงบประมาณ เพิ่มโอกาสการสร้างงานใหม่ๆ เพื่อให้บริการประชาชนได้อีกมาก
Core Data ของประเทศต้องมีมาตรฐาน
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ต่างมีชื่อเรียกต่างกัน พอจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงาน เพื่อให้บริการประชาชน จึงกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหา ที่นักพัฒนาโปรแกรมต้องเข้าแก้ไข หาวิธีจัดการเชื่อมอย่างไรให้ตรงกัน เรียกข้อมูลเดียวกันแต่ต่างชื่อมาใช้งานได้
หน่วยงานเจ้าของข้อมูลอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องดำเนินการแก้ไขให้เกิดการเชื่อมกันให้ได้
จากนั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA จะทำหน้าที่ลงทะเบียน ใช้แบรนด์ TGIX ให้การรับรองมาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ โดยหน่วยงานที่สร้างข้อมูลตามเกณฑ์ของ DGA จะได้รับการรับรองมาตรฐานฯ ดังกล่าว ซึ่งจะใช้มาตรการทางการตลาดมาจูงใจให้หน่วยงานต่างๆ ใช้มาตรฐาน TGIX นี้
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดําเนินการของหน่วยงานของรัฐในการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งกลไกสําคัญในการทําให้การบริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัลทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐและการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน โดย DGA ทําหน้าที่ให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ
การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ มี ‘ข้อมูลบุคคล (Person)’ เป็นหนึ่งในกลุ่มข้อมูลหลัก (Core Data) สําคัญและจําเป็นต่อการให้บริการประชาชน ทั้งยังเป็นข้อมูลที่เกี่ยวพันกับกลุ่มข้อมูลด้านอื่น เช่น ด้านธุรกิจ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ฯลฯ
ดังนั้น จึงต้องมีมาตรฐานในการทํางานร่วมกัน (Interoperability) ระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดย DGA จัดทำ “มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ด้านความหมายข้อมูล เรื่องข้อมูลบุคคล (THAILAND GOVERNMENT INFORMATION EXCHANGE STANDARD, SERIES: SEMANTIC, PART 1: PERSON DATA)” ขึ้น
อ้างอิงทะเบียนราษฎร
การพัฒนามาตรฐานข้อมูลบุคคลที่ DGA จัดทำขึ้นนี้ ได้อ้างอิงตามข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานกํากับดูแลฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของประเทศ เพื่อให้เหมาะสมต่อการนําไปใช้ในทางปฏิบัติสําหรับหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่นํามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลบุคคลนี้ไปใช้พัฒนาระบบสารสนเทศลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาดําเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจาก เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไปบางประเภท รวมถึงการนิยามประเภทข้อมูลและรูปแบบข้อมูลอีกบางชนิด ดังนั้น DGA จึงจัดทำรายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องในมาตรฐานฉบับนี้ เพื่อให้นักพัฒนาระบบสารสนเทศสามารถใช้มาตรฐานฉบับนี้อ้างอิงในการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลบุคคล ซึ่งอยู่ในกลุ่มข้อมูลหลัก (Core Data) และข้อมูลอ้างอิงทั่วไป (Common Reference Data) ได้โดยตรง (ดูตารางประกอบ)
ตารางที่ 1 กลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลบุคคล
ลำดับ | องค์ประกอบข้อมูล | หมวดข้อมูล | ประเภท |
1 | ข้อมูลบุคคล | หมวด 2 | กลุ่มข้อมูลหลัก |
2 | ประเภทข้อมูลชื่อบุคคล | หมวด 2 | กลุ่มข้อมูลหลัก |
3 | ข้อมูลคำนำหน้าชื่อบุคคล | หมวด 1 | กลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไป |
4 | ข้อมูลเพศ | หมวด 1 | กลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไป |
5 | ข้อมูลสัญชาติ | หมวด 1 | กลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไป |
6 | ข้อมูลศาสนา | หมวด 1 | กลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไป |
7 | ข้อมูลสถานะบุคคล | หมวด 1 | กลุ่มข้อมูลอ้างอิงทั่วไป |
8 | รูปแบบข้อมูลวันที่ | – | รูปแบบข้อมูล |
9 | รูปแบบข้อมูลเบอร์ติดต่อ | – | รูปแบบข้อมูล |
ข้อมูลแต่ละลำดับจะมีคำอธิบายข้อมูล (Data Description) หรือรายละเอียดที่จำเป็นของข้อมูลนั้น ประกอบด้วย 13 ด้าน (https://bit.ly/3vkzRkO)
ข้อมูลบุคคลคือข้อมูลหลัก
ข้อมูลบุคคล (cd:Person) เป็นข้อมูลที่อยู่ในหมวดข้อมูลหลัก (Core Data) เป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงตัวบุคคล มีคีย์หลัก (Primary Key) คือ เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่กรมการปกครองออกให้แก่บุคคลในการจำแนกอินสแตน (Instance) ของข้อมูล ส่วนโครงสร้างดูรูปที่ 1
หัวใจของการจัดทำมาตรฐานข้อมูลบุคคลอยู่ที่การเลือกใช้คำศัพท์ใดแทนคำอะไร นอกเหนือจากข้อมูลหลักแล้วยังต้องมีข้อมูลอ้างอิงทั่วไป (Common Reference Data)
เช่น ข้อมูลคำนำหน้าชื่อบุคคล (cr:PersonNameTitle) เป็นข้อมูลที่แสดงคำนำหน้าชื่อของบุคคล มีคีย์หลัก (Primary Key) เป็นรหัส cr:PersonNameTitleCode ในการจำแนกอินสแตน (Instance) ของข้อมูล และใช้เป็นองค์ประกอบของประเภทข้อมูลชื่อบุคคล (cd:PersonNameType) ซึ่งเป็นประเภท Complex Type หรือข้อมูลเพศ (cr:Sex) เป็นข้อมูลที่บ่งถึงเพศ (ทางกายวิภาค) มีคีย์หลัก (Primary Key) เป็นรหัส cr:SexCode ในการจำแนกอินสแตน (Instance) ของข้อมูล เป็นต้น
มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำเป็นสำหรับการติดต่อข้ามหน่วยงาน เปรียบเสมือนการติดต่อระหว่างประเทศต้องใช้ภาษากลาง การติดต่อในระบบดิจิทัลก็ต้องใช้ภาษาเดียวกัน ชื่อ Field เดียวกันถึงจะทำให้สื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้
เห็นผลช่วง COVID-19
ที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของ COVID-19 มี 6-7 หน่วยงานต้องประสานงานเรื่องผู้ป่วย การจัดหาเตียงว่างรอรับผู้ป่วย ความจำเป็นทำให้เกิดการประสานงานร่วมกัน “กางโต๊ะ” กำหนด Field ให้เหมือนกัน เพื่อส่งผู้ป่วยไปอยู่เตียงได้เร็วที่สุด เคลื่อนย้ายผู้ป่วย COVID-19 ได้เร็ว
หลังจากเหนื่อยร่วมกัน ประมาณ 2 เดือน ผลตอบรับช่วยผู้ป่วยได้นับแสนคน
หากอนาคตหน่วยงานรัฐต่างๆ ร่วมมือใช้มาตรฐานเดียวกันตามที่ DGA จัดทำขึ้น เชื่อว่า จะช่วยให้การทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลคล่องตัวขึ้นอีกมาก แถมประหยัดเวลา และงบประมาณอีกมหาศาล ดังนั้น เป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์ให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลจะเกิดเป็นรูปธรรมได้จำนวนมาก และเร็วขึ้น ซึ่งจะเปิดมิติใหม่ของการเข้าถึงบริการของรัฐให้เป็นจริงในไม่ช้า