หากกล่าวถึงคำว่า “ภูมิศาสตร์” เราอาจจะนึกถึงข้อมูลแผนที่ หรือการแสดงพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากแผ่นกระดาษมาเป็นข้อมูลผ่านหน้าจอทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)
Geographic Information System : GIS
ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ให้ความหมายของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ว่าเป็นระบบสารสนเทศที่นำเอาข้อมูล ทางด้านภูมิศาสตร์มารวบรวมจัดเก็บสามารถสืบค้นข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลหรือนำมาวิเคราะห์เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ เช่น การวางแผน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติการวิเคราะห์แหล่งน้ำหรือแม้กระทั่งการค้นหาสถานที่ต่างๆ ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยก็คงจะเป็นการใช้ Google Maps เพื่อค้นหาเส้นทางซึ่งก็ถือเป็นการใช้ระบบสารสนเทศ ภูมิศาสตร์เช่นกัน
เมื่อข้อมูลพื้นที่มีหลากหลายรูปแบบและมีหน่วยงานรับผิดชอบที่แตกต่างกันการจะเชื่อมโยงข้อมูลเข้า
ด้วยกันต้องมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้ด้วยคุณภาพเดียวกันหนึ่งในนั้นคือการใช้ GML – Geography Markup Language เป็นภาษาที่เขียนขึ้นเพื่อติดต่อสื่อสารข้อมูลภูมิศาสตร์ ระหว่างเครื่องผ่านเครือข่ายให้เข้าใจตรงกัน
Geography Markup Language – GML
ก่อนที่จะอธิบายถึง GML เพื่อมองให้เห็นภาพได้ชัดเจน เราจะมาทำความรู้จักกับ XML ที่เป็นภาษาต้นแบบของ GML กัน
เทคโนโลยีนั้นมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่มากมาย การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็มีภาษาที่ได้รับความนิยมหลากหลาย ดังนั้นหากต้องการให้ทุกภาษาทำงานร่วมกันได้ เราจึงต้องมีตัวกลางเพื่อจัดเก็บและส่งต่อข้อมูล ให้ข้อมูลที่ได้รับนั้นตรงกัน นั่นคือหน้าที่ของ XML
XML ย่อมาจาก eXtensible Markup Language เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบและเก็บข้อมูลและส่งต่อให้ภาษาอื่นได้เข้าใจตรงกัน โดยคล้ายคลึงกับ HTML ที่จะใช้ แท็ก (Tag) ในการกำหนดรูปแบบหรือโครงสร้างได้เอง ซึ่งมีความสะดวกเพราะเป็นภาษาที่ทั้งคนและเครื่องต่างก็สามารถอ่านได้เข้าใจ
GML เกิดขึ้นจากรูปแบบของ XML จึงมีความคล้ายคลึงกัน แต่เป็นการกำหนดค่าลักษณะด้านภูมิศาสตร์โดยเฉพาะ เช่น การอธิบายพื้นที่ของผิวโลก ทำให้สามารถรับและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างการนำไปใช้งาน เช่น บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ที่ใช้ข้อมูลแผนที่ที่อยู่ใน Web Service มาวิเคราะห์พื้นที่จัดส่ง และกำหนดระยะเวลาการจัดส่งอาหารให้ถึงมือผู้รับได้อย่างรวดเร็ว GML ถูกกำหนดมาตรฐานโดย Open Geospatial Consortium ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนามาตรฐานของการให้บริการด้านการกำหนดพื้นที่ต่างๆ เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน GML และเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000
นอกจาก GML ยังมีมาตรฐานอื่นๆ เช่น GeoJSON ที่ใช้โครงสร้างแบบ JavaScript Object Notation หรือ JSON ซึ่งมีจุดเด่นคือ เป็นรูปแบบภาษาที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า XML จึงสามารถรองรับข้อมูลปริมาณมากได้ดีกว่า ในอนาคตอาจจะมีการรองรับและใช้งาน GeoJSON มากยิ่งขึ้น
CityGML ก็เป็นอีกมาตรฐานสำหรับการแสดงภาพโครงสร้าง 3 มิติ ทำให้ภาพแผนที่เรียบๆ ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา โดยสามารถนำมาสร้างเป็น Digital Twin ที่เป็นแนวคิดการสร้างเมืองจำลองขึ้นในแผนที่ สำหรับการตรวจสอบหรือจำลองสถานการณ์ให้เห็นภาพ ตัวอย่างเช่นการทำ Digital Twin เชื่อมต่อเข้ากับเซนเซอร์และ Internet of Things (IoT) เพื่อวัดค่ามลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
กำหนดมาตรฐาน เพื่อให้ใช้งานได้ร่วมกัน
หน่วยงานในประเทศไทยต่างมีความตื่นตัวในการรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์ แต่หากข้อมูลเหล่านั้นมีความแตกต่างทางรูปแบบ และไม่มีคุณภาพที่เหมาะสม ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน อาจทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณ เสียเวลา และเสียบุคลากรโดยไม่จำเป็น จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานภูมิสารสนเทศขึ้น เพื่อกำหนดวิธีการ เครื่องมือ หรือวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูล การสำรวจ การจัดหา ประมวลผล วิเคราะห์ การเข้าถึง การนำเสนอ และการรับ-ส่ง ข้อมูลภูมิศาสตร์/ภูมิสารสนเทศในรูปแบบดิจิทัล
ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ได้ประกาศให้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ – ภาษาจีเอ็มแอล (GML) เป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน โดยยึดตาม ISO 19136 : 2007 Geographic Information – Geography Markup Language (GML) เพื่อเป็นการกำหนดให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติงานด้านภูมิศาสตร์ตามมาตรฐานนี้ โดยถือเป็น 1 ใน 25 มาตรฐานที่ได้มีการประกาศมาตรฐานภูมิสารสนเทศในประเทศไทย
ตัวอย่างการนำภูมิสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการในประเทศไทย
ระบบรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ฉุกเฉิน (ระบบต้นแบบ) http://gistdaportal.gistda.or.th/pmoc/nusais/
เป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลฉุกเฉินที่สำคัญมารวมอยู่ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เฝ้าระวังโรคโควิด-19 สถานการณ์แหล่งน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝน สถานการณ์วาตภัยและอุทกภัย สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า และสถานการณ์อุบัติภัยต่างๆ ถือเป็นระบบต้นแบบที่มีการรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน
สรุป
GML ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำภูมิสารสนเทศที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายจากที่บ้าน เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อส่งต่อข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงานเข้าด้วยกัน จะช่วยให้ลดความซ้ำซ้อนของงาน ลดปัญหาความยุ่งยากในการเข้าถึงข้อมูล และจะทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ในการนำภูมิสารสนเทศมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาหรือเตรียมพร้อมต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิง
http://learn.gistda.or.th/2017/04/04/ข้อมูล-data-กิจกรรมที่นำไปส/
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/168/T_0014.PDF
http://learn.gistda.or.th/wp-content/uploads/book/Space%20techology%20and%20GEO-informatics.pdf https://developer.ibm.com/tutorials/yaml-basics-and-usage-in-kubernetes/