เรากำลังอยู่ในยุคที่ “ข้อมูล” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพลวัตรต่างๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับจุลภาคไปจนถึงระดับมหภาค ข้อมูลจึงกลายมาเป็นทรัพย์สินอันมีค่าของหน่วยงาน แต่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราต่างอยู่ในช่วงของการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูล จึงอาจทำให้มีปัญหากับการนำข้อมูลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นหลัก และมีการสะสมข้อมูลในองค์กรอย่างมหาศาล ซึ่งหากไม่มีการจัดการข้อมูลที่ดีแล้วคงเป็นไปได้ยากที่จะนำข้อมูลที่มีเหล่านั้นมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศชาติ
ข้อมูลยุ่งเหยิง ปัญหาที่นำมาสู่ทางออก
เมื่อหน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลในองค์กรเป็นจำนวนมากขึ้นๆ มักพบว่าปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้น คือ
- การซ้ำซ้อนของข้อมูล เป็นธรรมดาเมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมากแล้วจะมีข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน แต่ถูกจัดเก็บแยกกันเพื่อใช้ในกิจการคนละประเภทกัน ทั้งที่จริงแล้วสามารถใช้ข้อมูลชุดเดียวกันได้ เหตุการณ์นี้ทำให้เปลืองทรัพยากรระบบโดยใช่เหตุ และสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ข้อมูล ไม่รู้ว่าข้อมูลชุดไหนเป็นปัจจุบันที่สุด
- คุณภาพของข้อมูล เป็นเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความครบถ้วน และความเป็นปัจจุบันของข้อมูล เมื่อมีข้อมูลเป็นปริมาณมากแต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ข้อมูลใดถึงเวลาที่ควรจะต้องอัปเดตหรือข้อมูลชุดใดไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
- การเปิดเผยข้อมูล บางข้อมูลอาจไม่สามารถเปิดเผยให้หน่วยงานอื่นนำไปใช้ได้ ขณะที่บางชุดข้อมูลไม่เป็นความลับและสามารถอนุญาตให้หน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจยังติดอยู่ที่นโยบายการทำงานบางประการ ทำให้ไม่เกิดการแบ่งปันข้อมูล หรือกระบวนการขอใช้ข้อมูลยุ่งยากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลชุดนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
- ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ระบบจัดเก็บข้อมูลล่ม ข้อมูลรั่ว ข้อมูลหาย หรือแม้แต่การนำข้อมูลไปใช้ทางที่ผิด (ทั้งกฎหมาย และศีลธรรม) ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับหน่วยงานที่มีข้อมูลมหาศาลแต่ดูแลไม่ทั่วถึง เมื่อข้อมูลเป็นสิ่งมีค่าย่อมควรที่จะได้รับการปกป้องให้มีความปลอดภัย แต่เมื่อต้องแบ่งปันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จึงควรต้องมีนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ดี
ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐช่วยได้
ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาเกิดจาก ขาดการวางแผนบริหารจัดการข้อมูลทั้งระบบแบบบูรณาการ และขาดการวางแผนจัดการวงจรชีวิตข้อมูล รวมถึงอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ ในการใช้หรือขอใช้ข้อมูลในองค์กร ทำให้หลายหน่วยงานเกิดสารพัดปัญหาและไม่สามารถนำข้อมูลที่มีในองค์กรมาใช้ประโยชน์ในระดับงานบริหารเชิงนโยบายได้ ทางออกคือ การจัดทำ “ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ”
ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ คือ การกำหนดสิทธิในการตัดสินใจและความรับผิดชอบ ในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจัดทำ การใช้งาน และการบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงกระบวนการที่กำหนดบทบาท นโยบาย และมาตรฐาน ที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานสามารถบรรลุเป้าหมายได้
ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐที่ดี จะก่อให้เกิดการจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้ข้อมูลมีความมั่นคงปลอดภัย มีคุณภาพ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และมีความคุ้มทุนต่อการดำเนินงาน
“กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” เรื่องนี้ต้องรู้ก่อนทำ
ในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐให้ประสบความสำเร็จประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การกำหนดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และ 2) กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล เพื่อกำหนดวิธีการบริหารจัดการข้อมูลในหน่วยงาน
ในบทความนี้จะเจาะลึก “กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การกำหนดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ที่ประกอบด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากส่วนต่างๆ เป็นผู้กำหนดนโยบายของหน่วยงาน และทีมบริกรข้อมูล (Data Steward) เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากคณะกรรมการฯ สู่การปฏิบัติภายในหน่วยงาน รวมไปถึงการกำหนดผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล เช่น เจ้าของข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล ฝ่ายสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้จริง
- การกำหนดกระบวนการบริหารจัดการข้อมูล เป็นการกำหนดกรอบและแนวทางเพื่อบริหารจัดการข้อมูลในหน่วยงาน โดยเริ่มตั้งแต่ วางแผน-ปฏิบัติ-ตรวจสอบ-ปรับปรุง และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ มาตรฐาน นิยาม หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามกระบวนการกำกับดูแลข้อมูล ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ ดังนี้
- ร่างนโยบายการบริหารจัดการข้อมูล: การร่างนโยบายเป็นขั้นตอนการวางแผน ประกอบด้วยกรอบการบริหารจัดการข้อมูลตามวงจรชีวิตข้อมูล การแต่งตั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยทีมบริกรข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ จะเป็นผู้เสนอร่างนโยบายฯ นี้ต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
- การกำหนดนโยบาย: คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องตามทิศทางการดำเนินการของหน่วยงาน และขับเคลื่อนลงไปสู่การปฏิบัติ
- การควบคุม: เจ้าของข้อมูลจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้ข้อมูลหลัก โดยแนวทางการใช้ข้อมูลจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายฯ โดยผู้ใช้ข้อมูลจะต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และฝ่ายสารสนเทศจะต้องสนับสนุนการดำเนินการของเจ้าข้อมูล ทั้งนี้ เจ้าของข้อมูลต้องมีการรายงานการใช้ข้อมูลไปยังทีมบริกรด้วย
- การตรวจสอบ: ทีมบริกรข้อมูลจะเป็นผู้ตรวจสอบว่า มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายฯ และแนวทางการใช้ข้อมูลหรือไม่ และควรมีการปรับปรุงอย่างไร
- รายงานผลการตรวจสอบ: เมื่อมีการตรวจสอบจากเจ้าของข้อมูล ทีมบริกรข้อมูลสรุปปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล และรายงานต่อคณะกรรมการฯ
- ปรับปรุง: คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาผลการตรวจสอบ และนำมาปรับปรุงแนวนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อได้รู้เรื่อง “กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” ทำให้เริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าอะไรควรปฏิบัติอย่างไร จากนั้นก็จะสามารถเข้าสู่การวางแผนด้านการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลต่อไป ซึ่งในบทความนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ได้ขอนำเสนอขั้นตอนการดำเนินงาน 10 ขั้นตอนเอาไว้ให้เป็นแนวปฏิบัติ
บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จ
ขั้นตอนในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย
- จัดตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล และคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล โดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ควรเป็นผู้บริหารระดับสูงจากด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ CEO, CIO, CDO, CSO ซึ่งประธานคณะกรรมการฯ ควรเป็น CEO ส่วนคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล (Data Steward) เป็นคณะบุคคล ที่ทำหน้าที่ดำเนินการเชิงปฏิบัติ มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ในองค์กรเข้ามาร่วมทำงาน
- กำหนดยุทธศาสตร์ พันธกิจของหน่วยงาน เป็นการกำหนดทิศทางในการจัดทำธรรมาภิบาล และกำหนดโครงสร้างเบื้องต้น ว่าควรมุ่งเน้นพัฒนา แก้ไขปัญหาด้านใด และมีความต้องการเพิ่มเติมในด้านใด
- กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล โดยกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของธรรมาภิบาลข้อมูล เป็นการระบุเป้าหมายในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลข้อมูล แนวทางประเมินผล รวมถึงกลยุทธ์การจัดหาเงินทุน ที่ใช้ในกระบวนการกำกับดูแลข้อมูล
- นิยามข้อมูลและระบุกฎเกณฑ์ ในขั้นตอนนี้เป็นการนิยามชุดข้อมูล และเลือกชุดข้อมูลที่จะจัดทำธรรมาภิบาล เพื่อกำหนดหมวดหมู่ข้อมูล ชั้นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล และการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อข้อมูลดังกล่าว รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานของข้อมูล การให้นิยามข้อมูล เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน
- กำหนดตำแหน่งบริกรข้อมูล ทำหน้าที่ วางแผนการดำเนินงาน ให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล เป้าประสงค์ ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของข้อมูล รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล และรายงานผลต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
- ระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับข้อมูล คือ กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น เจ้าของข้อมูล ทีมบริหารจัดการข้อมูล ผู้สร้างข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล
- กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ กำหนดตำแหน่งงานหรือฝ่ายงานที่ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวข้องกับข้อมูลอย่างชัดเจน
- กำหนดสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูล เป็นการกำหนดตัวบุคคลหรือตำแหน่งงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลใดได้บ้าง และมีระดับการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นอย่างไร
- กระบวนการควบคุม กำหนดกระบวนการควบคุมการนำข้อมูลไปใช้เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
- จัดตั้งสำนักงานธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนงานบริหารจัดการข้อมูลสำหรับคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล และสนับสนุนกิจกรรมทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลข้อมูล เช่น การรวบรวมและรายงานผลการชี้วัดให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในข้อมูล เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามในแผนปฎิบัติก็ความจะต้องตระหนักถึง ปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นด้วย
9 จุดปัญหา ทำให้ไปไม่ถึงฝัน
รู้หนทางแห่งความสำเร็จแล้วลองมาดูหนทางแห่งปัญหาอุปสรรคกันบ้าง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงหนทางนี้เสีย
- ให้ฝ่ายไอทีขององค์กรเป็นแกนนำ เป็นข้อผิดพลาดแรกที่ร้ายแรงที่สุด เกิดจากความเข้าใจผิดว่าเป็นงานของฝ่ายไอที หากต้องการให้การทำธรรมาภิบาลข้อมูลสำเร็จต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นแกนนำ
- ไม่เข้าใจวุฒิภาวะของหน่วยงาน ไม่รู้ว่าหน่วยงานมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในเชิงบูรณาการระดับใด
- ให้ความสำคัญกับการทำธรรมาภิบาลข้อมูลแค่ระดับ “โปรเจ็กต์” แค่นี้ไม่เพียงพอ ต้องเป็นระดับ “นโยบาย”
- เกิดความคลาดเคลื่อนทางกลยุทธ์ หลุดจากแผนระหว่างการดำเนินการ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดนี้จะต้องมีความชัดเจนว่า เหตุใดหน่วยงานจึงตัดสินใจทำธรรมาภิบาลข้อมูลตั้งแต่แรก และการทำธรรมาภิบาลข้อมูลช่วยให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างไร
- ไม่เข้าใจภูมิทัศน์ข้อมูลในองค์กร ไม่รู้ว่าการทำงานของข้อมูลในองค์กรเป็นอย่างไร ไม่รู้ขั้นตอนวงจรชีวิตของข้อมูลในองค์กรตนเอง
- ความล้มเหลวในการกำหนดกรอบการทำงาน สาเหตุหลักมักเนื่องมาจากการไม่ได้กำหนดตัวผู้รับผิดชอบหลัก รวมไปถึงกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่ไม่เหมาะสมกับงาน
- เข้าใจว่าเป็นการพยายามทำเพื่อให้สำเร็จในครั้งเดียว เพราะแท้จริงแล้วการทำธรรมาภิบาลข้อมูลเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการทำงานกับข้อมูล การรักษาธรรมาภิบาลข้อมูลในองค์กรจึงต้องเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลข้อมูลไปตลอด
- ใช้แค่การทำเช็คลิสต์แล้วทำเครื่องหมายถูกลงในช่องเพื่อให้ผ่านกระบวนการ การคิดแค่ว่าทำให้ครบตามสเปกที่ได้มาแค่นั้นไม่เพียงพอ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยงานที่มีต่อการใช้ข้อมูลร่วมด้วย
- คิดว่า “อุปกรณ์” หรือ “เครื่องมือ” จะเป็นคำตอบแห่งความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ความรู้ความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลทั้งหมดต่างหากที่จะเป็นแรงผลักดันให้จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลหน่วยงานภาครัฐได้สำเร็จ
กรณีศึกษา Step by Step จัดทำนำกรอบมาใช้
กรณีศึกษาสำหรับในบทความนี้ DGA มาเล่าถึง Step by Step ในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับกรม โดยแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 Step คือ 1. เลือกชุดข้อมูล ทำ Metadata กำหนดนโยบาย 2. ปฏิบัติตามนโยบาย 3. ประเมินคุณภาพข้อมูลแล้ววนกลับที่เดิม
- Step 1 เลือกชุดข้อมูล ทำ Metadata กำหนดนโยบาย
- แต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
- แต่งตั้งคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลทำการร่างนโยบายข้อมูล
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลดำเนินการเลือกชุดข้อมูล และจัดทำ Metadata
- นำร่างนโยบายข้อมูลและ Metadata เสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ
- อธิบดีกรมฯ ลงนามประกาศใช้นโยบายข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
- Step 2 ปฏิบัติตามนโยบาย
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติ (แผนจะต้องทำตามนโยบายข้อมูลที่ระบุไว้)
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลดำเนินการตามแผนปฏิบัติ
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบายข้อมูล (เมื่อได้ดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง)
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลทำการประเมินผลการตรวจสอบ
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลจัดทำรายงานผลการประเมินคุณภาพข้อมูล
- Step 3 ประเมินคุณภาพข้อมูลแล้ววนกลับที่เดิม
- คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลนำเสนอรายงานผลการประเมินคุณภาพข้อมูล ต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
- คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ทำการพิจารณา หากมีจุดปัญหาให้ทบทวน ปรับปรุง ทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม
- คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ส่งเสริมให้เกิดธรรมมาภิบาลข้อมูลอย่างยั่งยืน
ทั้ง 3 Step ที่กล่าวมานี้แม้จะทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ควรจะต้องวนกลับมาทำกันอีก เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
แม้ว่าหนทางการไปสู่การทำธรรมาภิบาลข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐจะดูท้าทายและไม่ง่ายนัก แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ปัจจัยหลักที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุเป้าหมายของการทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้สำเร็จคือ ความแน่วแน่ขององค์กร ซึ่งผู้บริหารหน่วยงานต้องมีความเข้าใจ ให้การสนับสนุน และเป็นแกนนำด้วยตนเอง
อีกประเด็นที่สำคัญ ควรต้องกำหนดเป็นนโยบาย และตั้งเป็น OKR (Objective and Key Results) ขององค์กร เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นร่วมด้วยช่วยกัน ผลักดันจนจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้สำเร็จลุล่วง และทุกคนในหน่วยงานตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และให้ความร่วมมือในการดำเนินเพื่อรักษาธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดีของหน่วยงานสืบเนื่องไป
การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เชื่อว่าพอจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานใดๆ ได้รู้แล้วว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง พร้อมกับสามารถจับแนวปฏิบัติมาดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้เกิดมุมมองว่า การทำธรรมมาภิบาลข้อมูล ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกินความสามารถอีกต่อไป