ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับการใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตนก่อนการทำธุรกรรมใดๆ กับทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ทุกวันนี้เรามีอีกสิ่งที่เรียกว่า Digital Identity หรือ Digital ID สำหรับใช้ในการยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชนแล้ว Digital ID จะดีกว่าบัตรประชาชนอย่างไร? ในอนาคตเราจะนำไปใช้งานได้อย่างไรบ้าง? ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง? มาพบกับคำตอบของคำถามเหล่านี้ในบทความนี้กันได้เลยครับ
Digital ID คืออะไร?
ในการทำธุรกรรมใดๆ ก็ตาม เรามักต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อให้อีกฝ่ายมั่นใจได้ว่าเราคือบุคคลเดียวกับที่เราระบุจริงๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมเหล่านั้นมีผลและเชื่อถือได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เราก็มักใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในการทำธุรกรรมนั้นๆ ตรวจสอบบัตรประชาชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่การตรวจสอบว่าใบหน้าของเราเหมือนกับในบัตรประชาชน หรือการนำบัตรไปตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมก็ตาม ซึ่งในที่นี้ บัตรประชาชนนั้นก็คือเป็น Identity หรือเครื่องมือระบุยืนยันตัวตนของเรานั่นเอง
อย่างไรก็ดี การใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนนี้ก็มีปัญหามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าบัตรประชาชนนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ยืนยันตัวตนอีกต่อไป
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชนนั้นต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ส่งผลให้ต้องเกิดการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา เพื่อให้สามารถใช้ทำการระบุยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมั่นคงปลอดภัย ในขณะที่ยังสามารถนำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนเพื่อทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และมีการใช้งานจริงทั้งในหน่วยงานภาครัฐ, สถาบันการเงิน, ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วประชากรไทยส่วนใหญ่นั้นจะต้องมี Digital ID เพื่อใช้ในการระบุยืนยันตัวตนบนโลกออนไลน์ และนำไปใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การเข้ารับบริการหรือสวัสดิการจากภาครัฐเอง ก็จะสามารถใช้ Digital ID ได้ทั้งหมดเช่นกัน
ตัวอย่างการใช้งาน Digital ID ในประเทศไทย
การใช้งาน Digital ID ในประเทศไทยนั้นมีกรณีการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงแล้วอย่างหลากหลาย เช่น
- การทำธุรกรรมภาษีร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีสามารถทำธุรกรรมภาษีได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วยการใช้ Digital ID
- การทำธุรกรรมออนไลน์ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น และทำให้ธุรกรรมหลายส่วนที่เคยต้องไปทำที่สาขาของธนาคาร สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยการยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID
- กรมการปกครอง ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลบุคคล เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้งาน Digital ID ได้อย่างมั่นใจ
- โครงการชิมช้อปใช้ ที่มีการผสานระบบของ Digital ID เป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานอยู่แล้ว
สำหรับแผนการในอนาคตนั้นก็เริ่มมีโครงการจำนวนมากที่เผยถึงการนำ Digital ID ไปใช้งาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เตรียมเปิดให้ระบบจดทะเบียนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้ Digital ID ได้, กรมที่ดินที่จะนำ Digital ID ไปใช้ยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานในการดำเนินการภายในระบบออนไลน์ต่างๆ ของกรม, สปสช. ที่เตรียมเปิดให้มีการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการและเข้ารับบริการด้วย Digital ID และกยศ. ที่เตรียมผสานระบบ Digital ID มาใช้กับระบบกองทุนและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
จากความต้องการใช้งาน Digital ID ของบริการหน่วยงานภาครัฐที่หลากหลาย การมีมาตรฐานใช้งานร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของบริการภาครัฐให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับแล้ว ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกไม่ต้องลงทะเบียนหรือจดจำ Digital ID สำหรับแต่ละบริการ โดยท่านสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐาน Digital ID เพิ่มเติมได้จาก – มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (Digital ID)