ประเทศไทยกำลังก้าวข้ามสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาสนับสนุนการทํางานต่างๆ ของรัฐ เช่น การให้บริการประชาชน การบริหารงานภายในของภาครัฐ เป็นต้น
ประโยชน์ของการจัดทำรัฐบาลดิจิทัล หวังไว้หลายด้าน ทั้งประสิทธิภาพด้านการบริการประชาชนที่ดีขึ้น เข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานที่สามารถเข้าถึง ติดตาม และตรวจสอบได้ รวมถึงการลดต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐ
แต่ก่อนจะเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐต้องเกิด และนี่คือที่มาของ TGIX (Thailand Government Information Exchange) หากจะขยายความว่า TGIX คืออะไร คำตอบสั้นๆ “TGIX คือ มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ได้จัดทำและกำหนดขึ้นมาเพื่อให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน”
เรื่องเริ่มไม่ง่ายแล้ว!!!
อุปสรรคจากความต่าง
ด้วยหน่วยงานของรัฐล้วนมีหลากหลายและพันธกิจยังแตกต่าง กลายเป็นอุปสรรคใหญ่เมื่อต้องทํางานร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ลองนึกภาพดูว่า แต่ละหน่วยงานต่างใช้ภาษาเขียนซอฟต์แวร์ หลักเกณฑ์ และชื่อเรียกข้อมูลที่ต่างกัน การจะสื่อสารเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนต้องมีแกนกลางการเชื่อมนั้นๆ หรือเรียกว่า “มาตรฐานการทํางานร่วมกัน (Interoperability)” เป็นตัวกำหนดเกณฑ์ที่ทุกหน่วยงานยอมรับร่วมกันมาเป็นตัวประสาน
การมีมาตรฐานเป็นเรื่องดีใช่ไหม แต่การจะมีมาตรฐานการทํางานร่วมกันดังกล่าวกลับกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสําคัญในการดึงความสามารถของรัฐบาลดิจิทัลออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ทำไมน่ะหรือ?…
ต้องแจกแจงว่า มีปัญหาหลากหลายแง่มุมให้พิจารณา ทั้งประเด็นทางเทคนิค ที่ต้องพิจารณาถึงการส่งข้อมูล โครงสร้างและความหมายข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกัน (Data Syntactic and Semantic) และยังมีประเด็นผลกระทบต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เป็นต้น
ปัญหามีไว้แก้
ยังดีที่เห็นถึงปัญหามากมาย จะได้จัดการแก้ไขได้ตรงจุด เพราะการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องเร่งดําเนินการให้เกิดขึ้นเพื่อให้พร้อมต่อมาตรฐานการทํางานร่วมกันของหน่วยงานของรัฐ
และการที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ เป็นปัญหาเทียบเคียงกับปัญหามาตรฐานการทํางานร่วมกัน เนื่องด้วยมีแนวทางและความต้องการเหมือนกัน การพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐจึงใช้ตัวแบบอ้างอิงมาตรฐานการทํางานร่วมกันของรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Interoperation Reference Model) จึงเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาได้… เริ่มเห็นแสงสว่างแล้ว !!!
งานท้าทายต้องวางกรอบชัด
การจะพัฒนามาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐให้ประสบผลสําเร็จถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก จําเป็นต้องมีกรอบแนวทางดําเนินงานที่ชัดเจน เพราะต้องดําเนินการทั้งในระดับเทคนิค ระดับความหมาย และระดับองค์กรในเวลาเดียวกัน จะต้องมีหน่วยงานหลักมาขับเคลื่อน เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ จากปัจจัยด้านระเบียบกฎหมาย การเมืองและนโยบาย และวัฒนธรรมทางสังคม
จากที่กล่าวมาแล้วว่า เราใช้ตัวแบบอ้างอิงมาตรฐานการทํางานร่วมกันของรัฐบาลดิจิทัล เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนามาตรฐานได้ ซึ่งมาตรฐานการทํางานร่วมกันมีจุดประสงค์ 3 ประการ คือ
- เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Exchange) ในระดับพื้นฐาน ซึ่งระดับนี้ไม่สนใจความหมายของข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกัน เช่น ระบบสารสนเทศสองระบบสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ภายใต้ข้อตกลงเรื่องขนาดของข้อมูลว่าเป็นข้อมูลตัวเลขที่มีทศนิยมสองตําแหน่ง โดยไม่สนใจว่าเป็นข้อมูลอะไร เป็นต้น
- เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความหมาย (Meaning Exchange) ระบบสารสนเทศที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเข้าใจถึงความหมายของข้อมูลนั้นร่วมกัน เช่น ตัวเลขทศนิยมสองตําแหน่งที่แลกเปลี่ยนกันคืออัตรา
การแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน เป็นต้น แต่ปัญหาที่มีคือ ผู้เกี่ยวข้องอาจเข้าใจความหมายไม่ตรงกัน เพราะหน่วยวัดของข้อมูลอาจมีข้อกำหนดในแต่ละหน่วยงานต่างกัน - เพื่อให้เกิดข้อตกลงในขั้นตอนการดําเนินงาน (Process Agreement) ผู้เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจตรงกันในการปฏิบัติต่อสารสนเทศที่มีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในระบบจะต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกันก่อนว่าจะทําอย่างไรกับสารสนเทศที่พวกเขาได้รับ ข้อตกลงในด้านขั้นตอน การดําเนินงานเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและหลากหลาย
ส่วนระดับของมาตรฐานการทํางานร่วมกัน ภายใต้ชื่อ Thailand Government Information Exchange หรือ TGIX ประกอบด้วย 3 ระดับที่ต้องดำเนินการพร้อมกัน ได้แก่ [ใส่รูปที่ 1 ระดับมาตรฐานการทํางานร่วมกัน (Interoperability Level) จาก หน้า 6 ร่างมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล Digital Government Standard ว่าด้วยกรอบแนวทางการพัฒนามาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ https://bit.ly/3zChsTe]
- มาตรฐานการทํางานร่วมกันระดับเทคนิค (Technical Interoperability) เป็นพื้นฐานและจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
- มาตรฐานการทํางานร่วมกันระดับความหมาย (Semantic Interoperability) การแลกเปลี่ยนความหมายจะเกิดขึ้นได้จําเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ได้ก่อน
- มาตรฐานการทํางานร่วมกันระดับองค์กร (Organizational Interoperability) มาตรฐานระดับองค์กรนี้จําเป็นต้องอาศัยมาตรฐานระดับความหมายและมาตรฐานระดับเทคนิคเป็นแกนขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดขั้นตอนการทํางานร่วมกันระหว่างหน่วยงานได้
ข้อแนะนําหน่วยงานภาครัฐ
ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นเรื่องของปัญหาที่ต้องคิดเผื่อ ซึ่งการปรับเข้าสู่มาตรฐานฯ TGIX ต้องมีผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอน ทั้งผู้บริการและผู้ให้บริการ เพียงแต่จะมากหรือน้อย ดังนั้น การปรับเข้าสู่มาตรฐานฯ จึงต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและนําไปประเมินเพื่อหาข้อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ แบ่งผู้จะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานฯ TGIX ได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล กลุ่มผู้ให้บริการข้อมูล และกลุ่มผู้ใช้บริการข้อมูล ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่พึงพิจารณาของแต่ละกลุ่ม(ตามรูปที่ 5 หน้า 12 ของ https://bit.ly/3zChsTe ร่างทั้งฉบับ)
สองมาตรฐาน:เชื่อมโยง-ความหมาย
การพัฒนามาตรฐานฯ TGIX แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนามาตรฐานฯ ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล (Linkage Standard) และการพัฒนามาตรฐานฯ ด้านความหมายข้อมูล (Semantic Standard) ซึ่งแต่ละส่วนมีแนวทางการดําเนินงานต่างกัน และมีองค์ประกอบของมาตรฐานต่างกัน
กล่าวโดยสรุปคือ การพัฒนามาตรฐานฯ ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล มุ่งเน้นที่ (1) สถาปัตยกรรมอ้างอิงของระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล และ (2) ข้อกําหนดด้านเทคนิคในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยการพัฒนาต้องพิจารณาถึงแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่ดําเนินการอยู่ควบคู่ไปด้วยสถาปัตยกรรมอ้างอิงเบื้องต้นของระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล
ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมอ้างอิงเบื้องต้น (Initial Reference Architecture) ของมาตรฐานฯ ด้านการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นข้อกําหนดขั้นต่ำที่แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้มาตรฐานฯ TGIX ต้องปฏิบัติตาม (ดูรายละเอียดของสถาปัตยกรรมอ้างอิงเบื้องต้น รวมถึงอินเตอร์เฟส หรือจุดต่อเชื่อมระหว่างองค์ประกอบในระบบและจะต้องมีมาตรฐานโปรโตคอล (Protocol) ที่กําหนดไว้อย่างชัดเจน (ดูรายละเอียด หน้า 22-25 https://bit.ly/3zChsTe)
ส่วนการพัฒนามาตรฐานฯ ด้านความหมายข้อมูล มุ่งเน้นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการกําหนด คําศัพท์ (Vocabulary) รูปแบบ โครงสร้าง และความหมายของข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนกัน
ล่าสุด มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล ว่าด้วยเรื่อง กรอบแนวทางการพัฒนามาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 แล้ว
ประโยชน์เกิดเมื่อปฏิบัติจริง
ใดๆ ก็ตาม มาตรฐานจะมีประโยชน์ต่อเมื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งการจะนำไปปฏิบัติได้ ทุกหน่วยงานต้องรับทราบว่ามีมาตรฐานอะไรบ้าง และใช้มาตรฐานนั้นๆ ดำเนินการ ทั้งนี้ มาตรฐานต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และการรับรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเทคโนโลยีเปลี่ยน กฎเกณฑ์เปลี่ยน มาตรฐานจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมตามวาระอันควร
อนาคตที่มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (TGIX) เสร็จสิ้นและนำไปใช้แพร่หลาย แนวคิด Once-only Principle ของรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งคือ การที่ประชาชนให้ข้อมูลกับภาครัฐเพียงครั้งเดียวก็เข้าถึงบริการดิจิทัลภาครัฐได้อย่างครบวงจรจะเกิดเป็นรูปธรรม เมื่อถึงวันนั้น TGIX จะเป็นแบรนด์ด้านมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล (มรด.) ของประเทศไทยนั่นเอง