ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ คิด-ทำ-นำกรอบมาใช้…ให้สัมฤทธิ์ผล

เรากำลังอยู่ในยุคที่ “ข้อมูล” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพลวัตรต่างๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับจุลภาคไปจนถึงระดับมหภาค ข้อมูลจึงกลายมาเป็นทรัพย์สินอันมีค่าของหน่วยงาน แต่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราต่างอยู่ในช่วงของการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูล จึงอาจทำให้มีปัญหากับการนำข้อมูลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นหลัก และมีการสะสมข้อมูลในองค์กรอย่างมหาศาล ซึ่งหากไม่มีการจัดการข้อมูลที่ดีแล้วคงเป็นไปได้ยากที่จะนำข้อมูลที่มีเหล่านั้นมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศชาติ

ข้อมูลยุ่งเหยิง ปัญหาที่นำมาสู่ทางออก

เมื่อหน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลในองค์กรเป็นจำนวนมากขึ้นๆ มักพบว่าปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้น คือ

  1. การซ้ำซ้อนของข้อมูล เป็นธรรมดาเมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมากแล้วจะมีข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน แต่ถูกจัดเก็บแยกกันเพื่อใช้ในกิจการคนละประเภทกัน ทั้งที่จริงแล้วสามารถใช้ข้อมูลชุดเดียวกันได้ เหตุการณ์นี้ทำให้เปลืองทรัพยากรระบบโดยใช่เหตุ และสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ข้อมูล ไม่รู้ว่าข้อมูลชุดไหนเป็นปัจจุบันที่สุด
  2. คุณภาพของข้อมูล เป็นเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความครบถ้วน และความเป็นปัจจุบันของข้อมูล เมื่อมีข้อมูลเป็นปริมาณมากแต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ข้อมูลใดถึงเวลาที่ควรจะต้องอัปเดตหรือข้อมูลชุดใดไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
  3. การเปิดเผยข้อมูล บางข้อมูลอาจไม่สามารถเปิดเผยให้หน่วยงานอื่นนำไปใช้ได้ ขณะที่บางชุดข้อมูลไม่เป็นความลับและสามารถอนุญาตให้หน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจยังติดอยู่ที่นโยบายการทำงานบางประการ ทำให้ไม่เกิดการแบ่งปันข้อมูล หรือกระบวนการขอใช้ข้อมูลยุ่งยากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลชุดนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
  4. ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ระบบจัดเก็บข้อมูลล่ม ข้อมูลรั่ว ข้อมูลหาย หรือแม้แต่การนำข้อมูลไปใช้ทางที่ผิด (ทั้งกฎหมาย และศีลธรรม) ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับหน่วยงานที่มีข้อมูลมหาศาลแต่ดูแลไม่ทั่วถึง เมื่อข้อมูลเป็นสิ่งมีค่าย่อมควรที่จะได้รับการปกป้องให้มีความปลอดภัย แต่เมื่อต้องแบ่งปันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จึงควรต้องมีนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ดี

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐช่วยได้

ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาเกิดจาก ขาดการวางแผนบริหารจัดการข้อมูลทั้งระบบแบบบูรณาการ และขาดการวางแผนจัดการวงจรชีวิตข้อมูล รวมถึงอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ ในการใช้หรือขอใช้ข้อมูลในองค์กร ทำให้หลายหน่วยงานเกิดสารพัดปัญหาและไม่สามารถนำข้อมูลที่มีในองค์กรมาใช้ประโยชน์ในระดับงานบริหารเชิงนโยบายได้ ทางออกคือ การจัดทำ “ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ”

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ คือ การกำหนดสิทธิในการตัดสินใจและความรับผิดชอบ ในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจัดทำ การใช้งาน และการบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงกระบวนการที่กำหนดบทบาท นโยบาย และมาตรฐาน ที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานสามารถบรรลุเป้าหมายได้

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐที่ดี จะก่อให้เกิดการจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้ข้อมูลมีความมั่นคงปลอดภัย มีคุณภาพ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และมีความคุ้มทุนต่อการดำเนินงาน

“กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” เรื่องนี้ต้องรู้ก่อนทำ

ในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐให้ประสบความสำเร็จประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การกำหนดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และ 2) กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล เพื่อกำหนดวิธีการบริหารจัดการข้อมูลในหน่วยงาน

ในบทความนี้จะเจาะลึก “กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. การกำหนดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ที่ประกอบด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากส่วนต่างๆ เป็นผู้กำหนดนโยบายของหน่วยงาน และทีมบริกรข้อมูล (Data Steward) เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากคณะกรรมการฯ สู่การปฏิบัติภายในหน่วยงาน รวมไปถึงการกำหนดผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล เช่น เจ้าของข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล ฝ่ายสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้จริง
  2. การกำหนดกระบวนการบริหารจัดการข้อมูล เป็นการกำหนดกรอบและแนวทางเพื่อบริหารจัดการข้อมูลในหน่วยงาน โดยเริ่มตั้งแต่ วางแผน-ปฏิบัติ-ตรวจสอบ-ปรับปรุง และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ มาตรฐาน นิยาม หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามกระบวนการกำกับดูแลข้อมูล ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ ดังนี้

  • ร่างนโยบายการบริหารจัดการข้อมูล:  การร่างนโยบายเป็นขั้นตอนการวางแผน ประกอบด้วยกรอบการบริหารจัดการข้อมูลตามวงจรชีวิตข้อมูล การแต่งตั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยทีมบริกรข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ จะเป็นผู้เสนอร่างนโยบายฯ นี้ต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
  • การกำหนดนโยบาย: คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องตามทิศทางการดำเนินการของหน่วยงาน และขับเคลื่อนลงไปสู่การปฏิบัติ
  • การควบคุม: เจ้าของข้อมูลจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้ข้อมูลหลัก โดยแนวทางการใช้ข้อมูลจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายฯ โดยผู้ใช้ข้อมูลจะต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และฝ่ายสารสนเทศจะต้องสนับสนุนการดำเนินการของเจ้าข้อมูล ทั้งนี้ เจ้าของข้อมูลต้องมีการรายงานการใช้ข้อมูลไปยังทีมบริกรด้วย
  • การตรวจสอบ: ทีมบริกรข้อมูลจะเป็นผู้ตรวจสอบว่า มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายฯ และแนวทางการใช้ข้อมูลหรือไม่ และควรมีการปรับปรุงอย่างไร
  • รายงานผลการตรวจสอบ: เมื่อมีการตรวจสอบจากเจ้าของข้อมูล ทีมบริกรข้อมูลสรุปปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล และรายงานต่อคณะกรรมการฯ
  • ปรับปรุง: คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาผลการตรวจสอบ และนำมาปรับปรุงแนวนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อได้รู้เรื่อง “กระบวนการกำกับดูแลข้อมูล” ทำให้เริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าอะไรควรปฏิบัติอย่างไร จากนั้นก็จะสามารถเข้าสู่การวางแผนด้านการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลต่อไป ซึ่งในบทความนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ได้ขอนำเสนอขั้นตอนการดำเนินงาน 10 ขั้นตอนเอาไว้ให้เป็นแนวปฏิบัติ  

บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จ

ขั้นตอนในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย

  1. จัดตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล และคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล โดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ควรเป็นผู้บริหารระดับสูงจากด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ CEO, CIO, CDO, CSO ซึ่งประธานคณะกรรมการฯ ควรเป็น CEO ส่วนคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล (Data Steward) เป็นคณะบุคคล ที่ทำหน้าที่ดำเนินการเชิงปฏิบัติ มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ในองค์กรเข้ามาร่วมทำงาน
  2. กำหนดยุทธศาสตร์ พันธกิจของหน่วยงาน เป็นการกำหนดทิศทางในการจัดทำธรรมาภิบาล และกำหนดโครงสร้างเบื้องต้น ว่าควรมุ่งเน้นพัฒนา แก้ไขปัญหาด้านใด และมีความต้องการเพิ่มเติมในด้านใด
  3. กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล โดยกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของธรรมาภิบาลข้อมูล เป็นการระบุเป้าหมายในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลข้อมูล แนวทางประเมินผล รวมถึงกลยุทธ์การจัดหาเงินทุน ที่ใช้ในกระบวนการกำกับดูแลข้อมูล
  4. นิยามข้อมูลและระบุกฎเกณฑ์ ในขั้นตอนนี้เป็นการนิยามชุดข้อมูล และเลือกชุดข้อมูลที่จะจัดทำธรรมาภิบาล เพื่อกำหนดหมวดหมู่ข้อมูล ชั้นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล และการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อข้อมูลดังกล่าว รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานของข้อมูล การให้นิยามข้อมูล เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน
  5. กำหนดตำแหน่งบริกรข้อมูล ทำหน้าที่ วางแผนการดำเนินงาน ให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล เป้าประสงค์ ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของข้อมูล รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล และรายงานผลต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
  6. ระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับข้อมูล คือ กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น เจ้าของข้อมูล ทีมบริหารจัดการข้อมูล ผู้สร้างข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล
  7. กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ กำหนดตำแหน่งงานหรือฝ่ายงานที่ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวข้องกับข้อมูลอย่างชัดเจน
  8. กำหนดสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูล เป็นการกำหนดตัวบุคคลหรือตำแหน่งงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลใดได้บ้าง และมีระดับการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นอย่างไร
  9. กระบวนการควบคุม กำหนดกระบวนการควบคุมการนำข้อมูลไปใช้เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
  10. จัดตั้งสำนักงานธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนงานบริหารจัดการข้อมูลสำหรับคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล และสนับสนุนกิจกรรมทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลข้อมูล เช่น การรวบรวมและรายงานผลการชี้วัดให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในข้อมูล เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามในแผนปฎิบัติก็ความจะต้องตระหนักถึง ปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นด้วย

9 จุดปัญหา ทำให้ไปไม่ถึงฝัน

รู้หนทางแห่งความสำเร็จแล้วลองมาดูหนทางแห่งปัญหาอุปสรรคกันบ้าง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงหนทางนี้เสีย

  1. ให้ฝ่ายไอทีขององค์กรเป็นแกนนำ เป็นข้อผิดพลาดแรกที่ร้ายแรงที่สุด เกิดจากความเข้าใจผิดว่าเป็นงานของฝ่ายไอที หากต้องการให้การทำธรรมาภิบาลข้อมูลสำเร็จต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นแกนนำ
  2. ไม่เข้าใจวุฒิภาวะของหน่วยงาน ไม่รู้ว่าหน่วยงานมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในเชิงบูรณาการระดับใด
  3. ให้ความสำคัญกับการทำธรรมาภิบาลข้อมูลแค่ระดับ “โปรเจ็กต์” แค่นี้ไม่เพียงพอ ต้องเป็นระดับ “นโยบาย”
  4. เกิดความคลาดเคลื่อนทางกลยุทธ์ หลุดจากแผนระหว่างการดำเนินการ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดนี้จะต้องมีความชัดเจนว่า เหตุใดหน่วยงานจึงตัดสินใจทำธรรมาภิบาลข้อมูลตั้งแต่แรก และการทำธรรมาภิบาลข้อมูลช่วยให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างไร
  5. ไม่เข้าใจภูมิทัศน์ข้อมูลในองค์กร ไม่รู้ว่าการทำงานของข้อมูลในองค์กรเป็นอย่างไร ไม่รู้ขั้นตอนวงจรชีวิตของข้อมูลในองค์กรตนเอง
  6. ความล้มเหลวในการกำหนดกรอบการทำงาน สาเหตุหลักมักเนื่องมาจากการไม่ได้กำหนดตัวผู้รับผิดชอบหลัก รวมไปถึงกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่ไม่เหมาะสมกับงาน
  7. เข้าใจว่าเป็นการพยายามทำเพื่อให้สำเร็จในครั้งเดียว เพราะแท้จริงแล้วการทำธรรมาภิบาลข้อมูลเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการทำงานกับข้อมูล การรักษาธรรมาภิบาลข้อมูลในองค์กรจึงต้องเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลข้อมูลไปตลอด
  8. ใช้แค่การทำเช็คลิสต์แล้วทำเครื่องหมายถูกลงในช่องเพื่อให้ผ่านกระบวนการ การคิดแค่ว่าทำให้ครบตามสเปกที่ได้มาแค่นั้นไม่เพียงพอ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยงานที่มีต่อการใช้ข้อมูลร่วมด้วย
  9. คิดว่า “อุปกรณ์” หรือ “เครื่องมือ” จะเป็นคำตอบแห่งความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ความรู้ความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลทั้งหมดต่างหากที่จะเป็นแรงผลักดันให้จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลหน่วยงานภาครัฐได้สำเร็จ

กรณีศึกษา Step by Step จัดทำนำกรอบมาใช้

กรณีศึกษาสำหรับในบทความนี้ DGA มาเล่าถึง Step by Step ในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับกรม โดยแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 Step คือ 1. เลือกชุดข้อมูล ทำ Metadata กำหนดนโยบาย 2. ปฏิบัติตามนโยบาย 3. ประเมินคุณภาพข้อมูลแล้ววนกลับที่เดิม

  • Step 1 เลือกชุดข้อมูล ทำ Metadata กำหนดนโยบาย 
    • แต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
    • แต่งตั้งคณะทำงานทีมบริกรข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลทำการร่างนโยบายข้อมูล
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลดำเนินการเลือกชุดข้อมูล และจัดทำ Metadata
    • นำร่างนโยบายข้อมูลและ Metadata เสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ
    • อธิบดีกรมฯ ลงนามประกาศใช้นโยบายข้อมูล (ออกเป็นหนังสือคำสั่งของกรมฯ)
  • Step 2 ปฏิบัติตามนโยบาย
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติ (แผนจะต้องทำตามนโยบายข้อมูลที่ระบุไว้)
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลดำเนินการตามแผนปฏิบัติ
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบายข้อมูล (เมื่อได้ดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง)
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลทำการประเมินผลการตรวจสอบ
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลจัดทำรายงานผลการประเมินคุณภาพข้อมูล
  • Step 3 ประเมินคุณภาพข้อมูลแล้ววนกลับที่เดิม
    • คณะทำงานทีมบริกรข้อมูลนำเสนอรายงานผลการประเมินคุณภาพข้อมูล ต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล
    • คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ทำการพิจารณา หากมีจุดปัญหาให้ทบทวน ปรับปรุง ทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม
    • คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล ส่งเสริมให้เกิดธรรมมาภิบาลข้อมูลอย่างยั่งยืน

ทั้ง 3 Step ที่กล่าวมานี้แม้จะทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ควรจะต้องวนกลับมาทำกันอีก เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

แม้ว่าหนทางการไปสู่การทำธรรมาภิบาลข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐจะดูท้าทายและไม่ง่ายนัก แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ปัจจัยหลักที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุเป้าหมายของการทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้สำเร็จคือ ความแน่วแน่ขององค์กร ซึ่งผู้บริหารหน่วยงานต้องมีความเข้าใจ ให้การสนับสนุน และเป็นแกนนำด้วยตนเอง

อีกประเด็นที่สำคัญ ควรต้องกำหนดเป็นนโยบาย และตั้งเป็น OKR (Objective and Key Results) ขององค์กร เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นร่วมด้วยช่วยกัน ผลักดันจนจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลได้สำเร็จลุล่วง และทุกคนในหน่วยงานตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และให้ความร่วมมือในการดำเนินเพื่อรักษาธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดีของหน่วยงานสืบเนื่องไป

การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เชื่อว่าพอจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานใดๆ ได้รู้แล้วว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง พร้อมกับสามารถจับแนวปฏิบัติมาดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้เกิดมุมมองว่า การทำธรรมมาภิบาลข้อมูล ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกินความสามารถอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเว็บไซต์ รวมถึงช่วยให้เราปรับปรุงการนำเสนอเนื้อหาตรงตามความต้องการของท่าน โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ประกาศการใช้คุกกี้ และ ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice)

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลการใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ ทราบถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ ยังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ถึงแม้ว่าข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ ไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้

  • คุกกี้เพื่อการใช้งานเว็บไซต์ (Functional Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ จดจำตัวเลือกต่าง ๆ ที่ท่านได้ตั้งค่าไว้และช่วยให้เว็บไซต์ส่งมอบคุณสมบัติและเนื้อหาเพิ่มเติมให้ตรงกับการใช้งานของท่านได้ เช่น ช่วยจดจำชื่อบัญชีผู้ใช้งานของท่าน หรือจดจำการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าขนาดฟอนต์หรือการตั้งค่าต่าง ๆ ของหน้าเพจซึ่งท่านสามารถปรับแต่งได้ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้อาจส่งผลให้เว็บไซต์ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ ทั้งนี้ หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของ ฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน

บันทึกการตั้งค่า